มวลอากาศเย็นระลอกต้นเดือนพฤศจิกายน 2567 –
วันนี้ (1 พ.ย.) ยังคงอยู่ในช่วงปลายฝนต้นหนาวตามที่กรมอุตุฯ ได้แจ้งไว้ ถึงแม้ทางไทยตอนบนจะเริ่มรู้สึกเย็นๆบ้างแล้วก็ตาม เรื่องเกี่ยวกับการประกาศเข้าสู่ฤดูหนาวอย่างเป็นทางการของกรมอุตุฯ ขอยกไว้ส่วนท้ายละกันครับ ขออนุญาตเข้าเนื้อหาหลักก่อน
มวลอากาศเย็นระลอกต้นเดือนพฤศจิกายน 2567 –
[1] มวลอากาศเย็นระลอกต้นเดือนพฤศจิกายน
จะมีมวลอากาศเย็นแผ่ลงมาสองระลอกติดจนเกือบจะเป็นระลอกเดียวกัน เนื่องจากแผ่เสริมลงมาต่อเนื่องกัน
มวลอากาศเย็นระลอกต้นเดือนพฤศจิกายน 2567 –
แบบจำลองอุณหภูมิที่ต่างจากค่าปกติที่ระดับ 850hPa (1500ม.) ของช่วงวันที่ 1-9 พ.ย. บ่งบอกถึงทิศทางของมวลอากาศเย็นหรือลมหนาวที่แผ่ลงมาถึงไทย แต่ศูนย์กลางส่วนใหญ่ก็ยังคงแผ่ไปทางเกาหลี-ญี่ปุ่นเสียมากกว่า
[2] ค่าความกดอากาศสูงสุดที่แตะกรุงเทพ
(อ้างอิง ECMWF)
– ช่วงแรกจะอยู่ที่ราวๆ 1014 hPa ประมาณวันที่ 3 พ.ย. และน่าจะเป็นวันที่มีความชื้นน้อยสุดของระลอกนี้
– ช่วงที่สองจะอยู่ที่ราวๆ 1015 hPa ประมาณวันที่ 6 พ.ย. และน่าจะมีความชื้นและเกิดเมฆจากลมตะวันออก ทำให้อุณหภูมิต่ำสุดอาจจะลดลงไม่ได้มาก อุณหภูมิต่ำสุดในตอนเช้าเฉลี่ยตลอดทั้งสัปดาห์คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 24-25°C
[3] แนวลมบนที่ถูกบล็อคด้วยพายุกองเร็ยบริเวณเหนือเกาะไต้หวัน
ทำให้ลมหนาวไม่ไหลลงทะเลและแผ่ลงมาได้ตรงๆในช่วงแรก เข้าอีสานตอนบน (คล้ายกันกับช่วงพายุกระท้อนเมื่อตอนต้นเดือนตุลาที่ผ่านมา) โดยช่วงแรกประเทศไทยจะเกิดฝนได้บางพื้นที่ ก่อนที่อุณหภูมิจะลดลง
[4] ลมตะวันออกที่เริ่มพัดเข้ามาแทรก
(สีส้ม) นำพาความชื้นเข้ามาทำให้เกิดเมฆมากขึ้นช่วงประมาณกลางสัปดาห์หน้า ก็ส่งผลให้อุณหภูมิต่ำสุดลดลงได้ไม่มากเท่าไหร่ โดยเฉพาะกรุงเทพที่แต่ละสำนักพยากรณ์อุณหภูมิต่ำสุดได้ต่างกันในช่วงนี้ ส่วนนี้ก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ผลการพยากรณ์ออกมาต่างกัน นอกจากความแรงของความกดอากาศสูง
[5] แนวลมบนที่ระดับ 850hPa ช่วงวันที่ 1-8 พ.ย.
ถ้ามาทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือจะเสริมกันกับมวลอากาศเย็น แต่ถ้ามาทางทิศตะวันออกผ่านทะเลมามันก็จะตัดกำลังความเย็นแทน และนำพาความชื้นมาเกิดเป็นเมฆปกคลุมขึ้นได้ ช่วงหลังวันที่ 4 พ.ย. จะเริ่มเป็นลมตะวันออกเป็นส่วนใหญ่ ส่วนลมผิวพื้นยังคงเป็นลมตะวันออกเฉียงเหนือตลอดช่วง
[6] พยากรณ์ฝนสะสมรายวัน 24 ชม. ช่วงวันที่ 1-8 พ.ย.
จาก ECMWF และเส้นแนวลมที่ระดับ 925hPa (750ม.) จากกรมอุตุฯ
โดยช่วงแรกประเทศไทยเกิดฝนได้บางพื้นที่ จากมวลอากาศเย็นที่แผ่ลงมาระยะแรก ก่อนอุณหภูมิลดลง สังเกตวันที่ 4 พ.ย. เป็นต้นไปแถวบริเวณเวียดนาม ลาว กัมพูชา มีฝนเพิ่มขึ้นจากลมตะวันออก
[7] การคาดหมายอุณหภูมิต่ำสุด
ของภาคอีสานตอนบนจากกรมอุตุฯ
ภาคอีสานตอนบน รวมถึงภาคเหนือตอนบน ทางกรมอุตุฯ คาดหมายให้อุณหภูมิต่ำสุดไล่ๆกัน ก็น่าจะได้เห็นต่ำกว่า 20°C ในตอนเช้า(บางพื้นที่) แต่ภาคอีสานลมจะแรงกว่า
++++++++++++++++++++++++++
[ส่วนท้าย] การประกาศเข้าสู่ฤดูหนาวอย่างเป็นทางการจากกรมอุตุฯ
เมื่อวันที่ 29 ต.ค. กรมอุตุฯ ได้ชี้แจงว่ายังคงอยู่ในช่วง Pre-winter ยังไม่ได้มีการประกาศเข้าสู่ฤดูหนาวอย่างเป็นทางการ ซึ่งจากที่สังเกตช่วงปลายฝนต้นหนาวปีนี้สภาพอากาศค่อนข้างแปรปรวนคาดการณ์ระยะยาวที่แน่นอนได้ค่อนข้างยาก ซึ่งนานๆทีจะเห็นกรมอุตุฯ ออกข้อมูลการคาดการณ์วันที่เข้าสู่ฤดูหนาวถึง 3 ครั้ง
คาดการณ์ครั้งที่ 1
ประมาณปลายสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนตุลาคม
คาดการณ์ครั้งที่ 2
เลื่อนเป็นวันที่ 29 ตุลาคม
คาดการณ์ครั้งที่ 3
เลื่อนเป็นช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน
[ส่วนท้าย 1] เกณฑ์การพิจารณาการเข้าสู่ฤดูหนาวของประเทศไทย จากกรมอุตฯ
ย้อนไปเมื่อผ่านช่วงต้นเดือนตุลาเหมือนเริ่มจะเข้าเกณฑ์ข้อแรก เริ่มช่วงปลายฝนต้นหนาว แต่หลังจากระลอกช่วงสองสัปดาห์แรกผ่านไปความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นก็ไม่ได้มีการแผ่ลงมาอีก ขาดช่วงไปจนอากาศอุ่นขึ้น มีเพียงลมที่เริ่มเปลี่ยนทิศ แต่ก็เป็นลมตะวันออกเป็นส่วนใหญ่พัดพาความชื้นเข้ามาแทน การกระจายของฝนกลับมาและอุณหภูมิสูงขึ้น ร่องฝนก็เลื่อนขึ้นกลับมาภาคกลางตอนล่าง ทำให้ช่วงปลายฝนต้นหนาวต้องต่อเวลาไปอีก จนมาปลายเดือนก็เหมือนจะเริ่มชัดเจนขึ้นอีกครั้ง แต่ติดตรงพายุจ่ามี (Trami) ซึ่งหลังจากลดระดับลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำแล้วก็ยังคงมีอิทธิพลกับแนวลมอยู่ ทำให้ยังคงแปรปรวน ประกอบกับพิจารณาลมในระดับกลาง (5.5กม.) ยังมีลมตะวันออก ตะวันออกเฉียงใต้ (ยังไม่เป็นลมตะวันตกตามเงื่อนไข) ซึ่งเป็นสิ่งที่ทางกรมอุตุฯ ได้ชี้แจงไว้
[ส่วนท้าย 2] สถิติอุณหภูมิช่วงที่ผ่านมาของตัวเมืองนครพนมในเดือนตุลาคม 2567
ขออ้างอิงเมืองหน้าด่านของลมหนาวเหมือนเดิม ใช้เป็นตัวชี้วัดการแผ่มาของมวลอากาศเย็น
*สีฟ้า คือ วันที่เข้าเกณฑ์อากาศเย็น(อุณหภูมิต่ำกว่า 23°C ในตอนเข้า) สังเกตว่าช่วงกลางเดือนลมหนาวหายไปเลย
[ส่วนท้าย 3] อุณหภูมิรายชั่วโมงช่วงกลางวันของอำเภอเมืองอุบล เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2567
วันนั้นลมหนาวไม่ได้แรงอะไรแต่มีอิทธิพลจากพายุจ่ามี ทำให้เกิดฝนตกทั้งวัน ซึ่งเวลาเกิดฝนตกมันจะพาลมบนที่เย็นกว่าลงมายังผิวพื้น (downdraft) แล้วช่วงนั้นลมบนมันเย็นตามลมหนาว ทำให้พื้นที่แถวจังหวัดอุบล เกิดเป็นฝนปนหนาว อุณหภูมิช่วงกลางวันอยู่ 20°C ต้นๆ ตลอดวัน และสูงสุดอยู่ที่ 24°C
[ส่วนท้าย 4] แผนที่อุณหภูมิเกิดขึ้นจริงของประเทศไทย
ช่วงตั้งแต่คืนวันที่ 26 ถึงช่วงเย็นของวันที่ 27 ต.ค. (เสริมส่วนท้าย 3)
สังเกตว่าช่วงกลางวันของวันที่ 27 ต.ค. จังหวัดอีสานริมโขงที่ได้รับอิทธิพลจากพายุจ่ามี อุณหภูมิต่างกับตอนกลางประเทศถึง 10 กว่าองศา
สรุปสั้นๆ สำหรับลมหนาวระลอกต้นเดือนพฤศจิกายน
– ภาคเหนือ อีสาน อุณหภูมิลด 2-4°C
– ภาคกลาง ตะวันออก อุณหภูมิลด 1-3°C
– กรุงเทพฯ อุณหภูมิลด 1-2°C
– ภาคใต้ระวังฝนตกหนัก
ปล. สำหรับชาวกรุงเทพฯ อย่าเพิ่งคาดหวังเยอะ เพราะช่วง 15 ปีหลังมานี้ ยังไม่เคยเจอวันที่อุณหภูมิต่ำกว่า 20°C ในช่วงเดือน พ.ย. เลย ให้รอลุ้นช่วงเดือน ธ.ค.-ม.ค. น่าจะดูมีความหวังมากกว่าครับ
…ข้อมูลพยากรณ์จาก ECMWF และกรมอุตุนิยมวิทยา ณ วันที่ 31 ต.ค. 2567
…แผนที่อุณหภูมิประเทศไทยย้อนหลังจาก สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ
อัปเดต… 02/11/67
[อัปเดต 1] ความชื้นและแนวลมที่ระดับ 500hPa (5.5km)
ภาคเหนือตอนบนอาจเกิดฝนได้จากกระแสลมตะวันตก ช่วงประมาณวันที่ 6-8 พ.ย. อากาศก็จะเย็นๆปนฝน
[อัปเดต 2] พยากรณ์ฝนสะสม 24 ชม. รายวันล่าสุดของช่วงวันที่ 4-9 พ.ย.
ปัจจัยเรื่องลมตะวันออกยังคงพัดเข้ามาแทรก ทำให้ฝนยังคงมีปนอยู่ได้บางพื้นที่ในช่วงสัปดาห์หน้า กรุงเทพก็ไม่รอด
แก้ไขข้อความเมื่อ